วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้[ปัตตานี,ยะลา,นราธิวาส]


        ราชอาณาจักรไทยประกอบขึ้นด้วยดินแดนที่เคยเป็นรัฐโบราณและหัวเมืองต่างๆในอดีต ผนวกรวมกันขึ้นเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีอาณาเขตพรมแดนที่แน่นอน แต่เนื่องจากความเข้มแข็งของผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้านและความพยายามที่จะเป็นอิสระของหัวเมืองต่างๆที่เคยมีอิสรภาพมาแต่เดิม ทำให้พัฒนาการของราชอาณาจักรไทยแต่ละยุคแต่ละสมัยต้องเผชิญกับพลังอำนาจทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลังยุคสมัยการขยายอาณานิคมของชาติตะวันตกมีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้ แต่ความไม่พอใจและปฏิกิริยาของกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาติพันธ์บางกลุ่มยังคงดำรงอยู่และมีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ
  
     การเรียนรู้ความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆของราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปิดกว้างและรับรู้ว่าความจริงเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทยย่อมดีกว่าการปฏิเสธหรือปิดโอกาสการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะสร้างทัศนะที่คับแคบให้กับพลเมืองไทยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆนำจุดอ่อนดังกล่าวไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนพลังการขัดแย้งอาจขยายตัวรุนแรงเกินกว่าที่คนไทยด้วนกันเองจะเยียวยาได้ในอนาคต
         ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเคลื่อนไหวได้เลือกใช้ประวัติศาสตร์บางตอนให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน เช่น ฝ่ายรัฐอ้างเรื่องการเสียดินแดนเพื่อปลุกสำนึกคนไทยทั้งประเทศให้หวงแหนแผ่นดิน ขณะที่ฝ่ายเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบได้อ้างถึงรัฐปัตตานีและการทวงคืนอิสรภาพของชาวมลายูปัตตานี การใช้ประวัติศาสตร์ดังกล่าวก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและขัดแย้งขยายผลอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

จนกระทั่งคนไทยบางคนถึงกับกล่าวว่า
“ ไม่จำเป็นต้องรับรู้ประวัติศาสตร์ใด ๆ  ทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันที่นี่คือแผ่นดินไทย ” 
ขณะเดียวกันฝ่ายความเคลื่อนไหวก็เผยแพร่ข้อความ
 “ คนซีแย ( สยาม ) รุกรานคนมลายู จงขับไล่พวกมันออกไป ” 
          
           ปฏิกิริยาต่อกันและกันของคนไทยเพียง 2 ตัวอย่างนี้มากเกินพอที่จะกล่าวว่า  ความขัดแย้งของคนไทยได้ขยายออกไปมากกว่าที่คิด การอธิบายความจริงทางประวัติศาสตร์  แม้ว่าจะไม่มีหลักประกันใดๆว่าความขัดแย้งจะยุติลงในทันที แต่ก็ต้องดำเนินการอย่างรีบด่วนให้คนไทยเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศตนเองอย่างถูกต้อง มีทัศนะที่เปิดกว้างมากขึ้นและไม่ควรนำความขัดแย้งไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันไปขยายผลให้เกิดความเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก มิเช่นนั้นเท่ากับว่าคนในยุคปัจจุบันได้สร้างประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายกว่าอดีตไว้ให้ลูกหลานต่อไป
 
          ในมุมมองที่ตรงกันข้าม  ในด้านอารยธรรมและภูมิรัฐศาสตร์พบว่าประวัติศาสตร์ได้สร้างสรรค์อารยธรรมที่ ก่อให้เกิดความภูมิใจในบรรพบุรุษของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้มากมาย จึงควรสนับสนุนส่งเสริมให้การศึกษาเผยแพร่ความรู้ให้สาธารณชนได้รับทราบสิ่งที่ดีงามที่ปรากฏเป็นมรดกอารยธรรมสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ดร.ครองชัย หัตถา
รองศ. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
 

รวบรวมลิ้งค์บทความประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น