วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

The Way Home คุณยายผมดีที่สุดในโลก


วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง The Way Home คุณยายผมดีที่สุดในโลก
ภาพยนตร์แนวชีวิตเรื่องนี้ถ่ายทอดภูมิปัญญาชีวิตและธรรมชาติผ่านภาพความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายวัย 7ขวบกับคุณยายวัย 77 ปี ​ที่ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านกลางป่าซึ่งห่างไกลจากความเจริญ โดยผู้แต่งได้เขียนบทด้วยการเพิ่มรายละเอียดต่างๆเข้าไปในเรื่อง จนทำให้เรื่องราวของสองยายหลานสะท้อนความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมชนบทกับวัฒนธรรมเมือง

ตัวละครหลัก
ซังวู หลานชายซึ่งมาจากเมืองใหญ่ พร้อมกับวีดีโอเกม น้ำอัดลมกระป๋อง ​และหุ่นยนต์รุ่นล่าสุด ต้องมาอาศัยอยู่กับยายที่บ้านกลางป่า เนื่องจากแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูในช่วงปิดเทอม
ยาย ผู้หลังค่อม ​เป็นใบ้ ​และเชื่องช้า มีชีวิตอยู่อย่างชาวบ้านธรรมดาที่ค่อนข้างแร้นแค้นและโดดเดี่ยวไร้ลูกหลานคอยดูแล
1.) ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการโดยสารรถไฟไปหายาย ซังวูถามแม่ว่ายายเป็นใบ้จริงหรือ  ถ้าเช่นนั้น อย่างน้อยผมก็ไม่ต้องทนฟังเสียงบ่นเหมือนตอนที่อยู่กับแม่ น้ำเสียงที่ใช้บ่งบอกว่าซังวูคิดเช่นนั้นจริงๆ มากกว่าที่จะเป็นการเย้าแหย่ด้วยความรัก
ฉากสั้นๆนี้สามารถบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองได้อย่างชัดเจน ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน แล้วปล่อยให้ลูกอยู่บ้านตามลำพังโดยมีโทรทัศน์และของเล่นต่างๆเป็นเพื่อน ทำให้เด็กที่เติบโตมาในสภาพเช่นนี้ มักจะเป็นคนก้าวร้าว มีจิตใจหยาบกระด้าง เด็กเหล่านี้จะไม่รู้จักความอบอุ่นจากอ้อมกอดแม่เพราะคุ้นเคยแต่กับการคุยกันทางโทรศัพท์ ทำให้เขาไม่รู้จักการอ่อนน้อมเมื่อพูดกับผู้ใหญ่

หลังจากนั้นไม่มีการสื่อสารใดๆ ระหว่างคนทั้งสองไปตลอดการเดินทาง ซังวูหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมกด ส่วนแม่ของเขาก็เอาแต่นอน จนกระทั่งความเงียบถูกแทนที่ด้วยเสียงพูดคุยทักทายกันของชาวบ้าน และเสียงร้องของเป็ดไก่  เมื่อทั้งสองเปลี่ยนมาโดยสารรถประจำทางที่วิ่งเข้าหมู่บ้าน ทั้งซังวูและแม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจที่พื้นที่ส่วนตัวถูกรุกราน
วิทยาการสมัยใหม่ เช่น เกมกด, โทรศัพท์มือถือ, วิทยุ ส่งเสริมให้คนในเมืองมี โลกส่วนตัว ของตัวเอง นานๆเข้าก็กลายเป็นการตัดขาดตัวเองจาก โลกภายนอก ไม่มีใครสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่อยู่รอบๆตัว ในขณะที่หมู่บ้านซึ่งยายของซังวูอาศัยอยู่ ความทันสมัยเหล่านี้ยังเข้าไปไม่ถึง ผู้คนในหมู่บ้านยังคงมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเอื้ออาทรห่วงใยกัน  คำว่าเพื่อนบ้านของสังคมชนบทจึงมีความหมายมากกว่าแค่คนที่ปลูกบ้านอยู่ติดกัน
2.) เรื่องราวของสองยายหลาน มีการสื่อสารระหว่าง หลานที่พูดได้กับคุณยายที่เป็นใบ้
การสื่อสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่บทพูด แต่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง โดยฝ่ายหนึ่งใช้คำพูดและอีกคนหนึ่งใช้สายตาและการกระทำ

3.) ฉากยายเอายาบำรุงที่แม่ของซังวูซื้อมาฝาก ไปมอบให้เพื่อนบ้านที่กำลังป่วยอยู่ เพื่อนบ้านคนนั้นไม่กล้ารับเอาไว้เพราะเกรงใจ แต่ยายก็ไม่ยอมรับคืน สุดท้ายเขาก็เอ่ยปากขอบคุณในน้ำใจที่ยายหยิบยื่นให้ และเสียใจที่ไม่มีอะไรจะมอบให้เป็นการตอบแทน แล้วซังวูก็พูดขึ้นว่าที่บ้านของเขาค่อนข้างขาดแคลนเสื้อผ้าใหม่ๆและสุดท้ายเขาก็ได้เสื้อใหม่มาใส่
นับว่าเป็นมุขตลกที่เสียดสีความก้าวหน้าทางการศึกษา ในขณะที่คนไร้การศึกษาอย่างยายช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ได้หวังอะไรตอบแทน แต่การศึกษากลับสอนให้เด็กอย่างซังวูกลายเป็นคนเจ้าเล่ห์ คิดแต่เรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว และพร้อมจะเรียกร้องเอาจากคนอื่นทุกเมื่อที่มีโอกาส
4.) ฉากซังวูกำลังนั่งกินข้าวอยู่ แล้วมีแมลงเดินผ่าน ซังวูร้องตะโกนด้วยความกลัวและร้องเรียกหาสิ่งที่จะสามารถใช้ฆ่ามันได้ เมื่อยายจับแมลงตัวนั้นได้ ซังวูร้องบอกให้ฆ่ามัน แต่ยายลุกขึ้นเดินอย่างช้าๆไปที่หน้าต่างแล้วจึงปล่อยมันไป
ฉากนี้ให้ข้อคิดแฝงไว้ เนื่องจากแมลงตัวนั้นมันเดินของมันอยู่ดีๆ ไม่ได้ไปทำอันตรายใคร มนุษย์เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่าชีวิตของมันควรสิ้นสุดลง เพียงแค่เราไม่ชอบรูปลักษณ์ของมัน แค่เราไล่มันให้ไปไกลๆก็เพียงพอแล้ว แต่เด็กจากสังคมเมืองอย่างซังวู ไม่มีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆในธรรมชาติ การที่แมลงขุดคุ้ยลงไปในดินเพื่อหาอาหารช่วยให้ดินเกิดความร่วนซุย ซึ่งส่งผลให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตที่งอกงามเพื่อรอการเก็บเกี่ยว สุดท้ายก็เจริญมาเป็นอาหารดีๆให้ซังวูได้กิน

5.) ฉากคืนหนึ่งที่ซังวูได้เรียนรู้ว่า  ไก่ต้มธรรมดาๆ ก็อร่อยได้ไม่แพ้ไก่เคเอฟซี  ในขณะที่เขากำลังหิว
เป็นมุขตลกที่เสียดสีค่านิยมสมัยใหม่ สังคมแบบวัตถุนิยมทำให้ซังวูเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความหรูหรา ฟุ่มเฟือย พึ่งพาแต่สิ่งไร้สาระอย่างเกมกดและของเล่นสมัยใหม่ ทำให้เขามองข้ามปัจจัยพื้นฐานที่ชีวิตต้องการ

6.) การกระทำของยาย
6.1) เมื่อหาปิ่นปักผมไม่เจอ เพราะซังวูขโมยไป ยายก็ใช้ช้อนทองเหลืองปักผมแทน โดยไม่ได้ฉุนเฉียวหรือติดใจอะไร
6.2) ฉากที่ยายพยายามไปหาไก่ให้ซังวูกินท่ามกลางลมพายุแต่ก็ไม่ถูกใจซังวูเพราะเขาต้องการกินไก่เคเอฟซี แม้ซังวูจะแสดงความไม่พอใจ แต่ยายก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร
6.3) ฉากที่ยายหาเงินมาด้วยความยากลำบาก เพื่อมาจ่ายค่าอาหารและน้ำอัดลมให้ซังวูที่ร้านอาหารในเมือง ในขณะที่ยายแทบจะไม่กินอะไรเลย
6.4) ทุกครั้งที่ซังวูไม่พอใจยาย  ยายได้แต่เอามือมาวนที่หน้าอก ซึ่งซังวูไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร
ทุกการกระทำของยายแสดงถึงการสื่อเอาความรักและความอบอุ่นมอบให้หลานชายอย่างเปี่ยมล้นหัวใจ

7.) ฉากเมื่อถ่านไฟฟ้าในเกมกดของซังวูหมด  แต่ยายไม่มีเงินให้เขาซื้อถ่านก้อนใหม่  เขาจึงหาทางไปซื้อถ่านจนหลงทางกลับมา
เป็นฉากที่แสดงความเป็นเด็กและความไร้เดียงสาของซังวู

8.) ฉากเมื่อยายพาหลานเข้าย่านค้าขาย ยายขายของจากการเพาะปลูกเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้หลานคนนี้ใช้จ่ายตามความพอใจ ยายนำเงินที่ได้จากการขายพืชผักที่ยายปลูกเองไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่และพาซังวูไปกินบะหมี่
                สังเกตได้ว่า เมื่อซังวูเห็นว่ายายของเขาหาเงินมาด้วยความยากลำบาก เขาก็เริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงเมื่อได้รองเท้าหรืออาหารอร่อยๆ แต่มันเป็นเพียงสิ่งที่นำมาปกปิดความอ่อนแอต่อโลกแปลกถิ่นของเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่ง

9.) ฉากยายหลานกำลังจะกลับบ้านหลังจากพากันเข้าเมือง ยายได้ส่งซังวูขึ้นรถกลับบ้านและซื้อขนมให้ซังวูกินระหว่างทาง แต่ตัวยายเองไม่ยอมขึ้นรถด้วย ซึ่งซังวูไม่รู้ว่าเพราะอะไร เมื่อซังวูถึงที่หมาย จึงนั่งรอยายที่ป้ายรถหน้าบ้าน รอแล้วรอเล่า จนรถเที่ยวสุดท้ายผ่านมา ซังวูรีบชะเง้อหายาย แต่ไม่เห็นใครบนรถ  แต่กลับเห็นหญิงชราคนหนึ่งเดินมาตามทางอย่างอ่อนแรง ทำให้ซังวูรู้ทันทีว่าที่ยายไม่กลับมากับเขา เพราะมีค่ารถไม่พอสำหรับคนสองคน
ฉากนี้ใช้จังหวะภาพที่ตัดจากรถเลี้ยวกลับพร้อมกับภาพยายที่กำลังเดินมา และสายตาของซังวูที่มองยายอย่างนึกไม่ถึง ทำให้สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของสองยายหลานได้อย่างหนักหน่วง

10.) เมื่อยายล้มป่วยลง ซังวูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามหาทางทำให้ยายของเขารู้สึกอุ่น ไม่ว่าจะเป็นผ้าทุกชิ้นหรืออาหารร้อนๆ
เสมือนการขอโทษในสิ่งต่างๆที่เขาทำไว้กับยาย

11.) ฉากวันหนึ่งซังวูไปแกล้งเด็กชายเพื่อนบ้านให้วิ่งหนีวัว เมื่อสำนึกผิดและไม่รู้จะทำอย่างไร จึงลองทำมืออย่างยายดูบ้าง คือใช้มือวนที่หน้าอก ทำให้เขาได้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วการเอามือวนที่หน้าอกนั้นหมายความว่าอย่างไร
ตัว ละครในหนังนอกจากยายหลานแล้ว ยังมีเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตัวละครที่สื่อถึงความคิดความอ่านของซังวูที่ เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเป็นเด็กที่ขอโทษใครไม่เป็นและเอาแต่ใจตัวเอง ได้ซึมซับเอาความโอบอ้อมอารี ความมีน้ำใจ ความอดทนอดกลั้น และการเอาใจเขามาใส่ใจเราจากยาย  ทำให้ซังวูเปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นเด็กที่รู้จักคิดและมีความรู้สึกถึง จิตใจคนอื่น
ซังวูเริ่มจากการพูดขอโทษแบบเขินอายกับเด็กชายที่เขาแกล้งให้วิ่งหนีวัว ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มยอมรับในตัวยายที่เขาเคยเรียกว่ายายใบ้ปัญญาอ่อน จนมาถึงช่วงท้ายเมื่อเขาทำมือวนที่หน้าอก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตอนนี้ซังวูไม่เพียงแต่จะ "แพ้ความดี" ของยายเท่านั้น แต่เขายังยอมรับยายอย่างหมดหัวใจด้วยการยอมพูดกับยายด้วย "ภาษาของยาย" อย่างไม่เขินอายใดๆอีกเลย

12.) เด็กชายเพื่อนบ้านวิ่งหนีวัวแม้ซังวูจะโกหก แต่เขาก็เผลอเชื่อโดยไม่ทันมองว่าวัวนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และสุดท้ายซังวูเองก็ต้องวิ่งหนีวัวดังกล่าวเช่นกัน
                ความมุทะลุพุ่งเข้าชนของวัวในเรื่องนี้สื่อได้ถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไหลบ่าเข้ามา  ไม่เพียงเด็กชายเพื่อนบ้านที่วิ่งหนีการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสิ่งต่างๆที่โถมซัดจากเมืองสู่ชนบท แต่ซังวูเองก็ต้องวิ่งหนีความเปลี่ยนแปลงนั้นเช่นเดียวกัน
The Way Home ชื่อของภาพยนตร์จึงไม่ได้หมายถึงเพียงเส้นทางกลับบ้านเกิด แต่ย่อมหมายถึงเส้นทางกลับสู่พื้นฐานบ้านเกิดที่แท้จริงของมนุษย์ นั่นคือธรรมชาติ อาจอนุมานได้ว่ายายใบ้ผู้ไม่เคยพูดอะไร เป็นตัวแทนของธรรมชาติผู้มีแต่ให้ โดยไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ
13.) ฉากที่แสดงให้เห็นว่า อย่างไรก็ตามซังวูก็ยังไม่พอใจในตัวยายเพราะยังไม่ได้ในสิ่งที่เขาเรียกร้องมาโดยตลอด นั่นคือถ่านเกมกดที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในชนบทแห่งนี้ แต่ยายก็ได้ห่อบางสิ่งด้วยกระดาษไว้กับเกมกดของเขาซึ่งซังวูไม่ได้ใส่ใจ เพราะเขามัวแต่สนใจสาวน้อยน่ารักที่เขาถูกใจ และซังวูกำลังจะนำของเล่นใส่รถลากเพื่อไปแลกกับตุ๊กตาของสาวน้อยคนนั้น
หลัง จากแลกตุ๊กตาแล้ว ระหว่างทางกลับบ้าน ซังวูเกิดอุบัติเหตุและล้มลง เขาพยายามหาสิ่งที่จะนำมาเช็ดเลือด จึงหยิบกระดาษที่ยายห่อบางสิ่งไว้กับเกมกดและซังวูก็ได้รู้ว่ายายไม่ได้ ละเลยต่อสิ่งที่เขาเรียกร้องเลย  เขาไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงเดินกลับบ้านด้วยการร้องไห้โฮ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ยายตามหาเขาพอดี ซังวูดีใจมากและเข้าใจยายทุกอย่าง  ซังวูรู้แล้วว่ายายรักเขามากเพียงใด
                ฉากนี้แสดงให้เห็นได้ชัดว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่มีบทพูดมากมาย  ไม่ต้องพรรณนาว่ายายรักหลาน หลานรักยาย แต่ก็เป็นเหมือนละครใบ้ที่กระแทกอารมณ์ให้ซาบซึ้งถึงความรัก​ระหว่างยายชรากับหลานชายจอมดื้อได้เป็นอย่างดี

                14.) เมื่อถึงวันที่แม่ของซังวูมารับกลับบ้าน ก่อนขึ้นรถซังวูได้มอบการ์ดให้แก่ยายโดยไม่หันหลังกลับมามอง แต่ก่อนรถจะลับตา ซังวูไม่ลืมที่จะทำสัญลักษณ์มือวนรอบอกอย่างที่ยายเคยทำกับเขา และมันเป็นสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับยายมากที่สุดในเวลานั้นว่า ผมขอโทษ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เฉลยในตอนท้ายว่าซังวูวาดอะไรบนการ์ดให้ยาย
                นับป็นการสรุปที่ยอดเยี่ยม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายทุกชีวิตก็ต้องดำเนินไปตามวิถีของตนเอง ซังวูกลับไปสู่เมืองใหญ่และเฝ้ารอว่าสักวันจะได้พบยายอีก  ส่วนยายของเขาก็เดินกลับบ้านไปตามทางที่คุ้นเคยเพื่อกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม
น้ำหยดลงหินทุกวัน หินสามารถกร่อนได้ฉันใด  จิตใจของเด็กน้อยก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ฉันนั้น เด็กน้อยเหมือนผ้าขาวที่เราแต่งแต้มสีอะไรลงไปเด็กก็จะเป็นตามนั้น คุณยายถึงจะเป็นใบ้แต่ก็ได้สื่อเอาความรัก ความอบอุ่นเอาไว้ในใจหลานได้อย่างเปี่ยมล้น และที่สำคัญซังวูก็รักยายมากขึ้นทุกวันจนแทบล้นหัวใจเช่นกัน
ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่า ท่วงทำนองในการใช้ชีวิตของยายหลานค่อนข้างต่างกันมาก  ซังวูเป็นเด็กตามแบบฉบับของคนเมืองที่ชีวิตต้องเร่งรีบตลอดเวลาเพื่อให้ตามคนอื่นทัน ส่วนคุณยายเป็นคนที่มีชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่มุ่งเน้นว่าจะต้องร่ำรวยอะไร ถ้าคนสมัยใหม่ใช้ชีวิตแบบ มองไปข้างหน้า ยายก็เป็นพวกใช้ชีวิตแบบ มองมาด้านข้าง
ในตอนจบของเรื่องยายสามารถเปลี่ยนซังวูให้กลายเป็นคนที่รู้จักหันมามองคนรอบข้างได้  และประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการโน้มน้าวให้คนยุคใหม่หันมามองด้านข้าง เพื่อทำลายกำแพงความแตกต่างของสังคมและเพื่อลดช่องว่างของความผูกพันที่จะถูกเติมเต็มโดยครอบครัว

อ้างอิง
Sbuyhosting. The Way Home คุณยายผมดีที่สุดในโลก 1DVD Master พากษ์ไทย. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://dvdzaza.com/catalog.php?idp=3430. (วันที่ค้นข้อมูล : 21 มกราคม 2555).
MUU-TAH. The Way Home:: คุณยายผม...ดีที่สุดในโลก. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.diaryclub.com/blog/zhonglarn/20100829/The-Way-Home-คุณยายผม-ดีที่สุดใน-ลก-ชีวิตประจำวัน.php. (วันที่ค้นข้อมูล : 21 มกราคม 2555).
เรียวจันทร์. คุณยายผม...ดีที่สุดในโลก!. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://noknoi.com/magazine/article.php?t=262. (วันที่ค้นข้อมูล : 21 มกราคม 2555).
yuttipung. The Way Home : ทางกลับบ้านที่หลายคนหลงลืม. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yuttipung&month=02-07-2005&group=1&gblog=25. (วันที่ค้นข้อมูล : 21 มกราคม 2555).
land_scape_man. การวิจารณ์ภาพยนตร์. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=filmlover&month=09-12-2007&group=7&gblog=13 (วันที่ค้นข้อมูล : 21 มกราคม 2555).


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น