วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คุณค่าบทกวีอหังการของดอกไม้(จิระนันท์ พิตรปรีชา)

 สตรีมีสองมือ
มั่นยึดถือในแก่นสาร
เกลียวเอ็นจักเป็นงาน
มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ

สตรีมีสองตีน

ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน
ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน
มิหมายมั่นกินแรงใคร

สตรีมีดวงตา

เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
มองโลกอย่างกว้างไกล
มิใช่คอยชม้อยชวน

สตรีมีดวงใจ

เป็นดวงไฟไม่ผันผวน
สร้างสมพลังมวล
ด้วยเธอล้วนก็คือคน

สตรีมีชีวิต

ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
คุณค่าเสรีชน
มิใช่ปรนกามารมณ์

ดอกไม้มีหนามแหลม

มิใช่แย้มคอยคนชม
บานไว้เพื่อสะสม
ความอุดมแห่งผืนดิน !

ประชาธิปไตย
4 พฤศจิกายน 2516

ดอกแพงพวย
ทำไมต้องเน้น...     "ประชาธิปไตย     ?
                      4 พฤศจิกายน 2516"
หลักของการอ่าน
1.วิเคราะห์ : ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม >> ทั้งหมดนี้มีหัวใจอยู่ที่ชื่อเรื่อง "ประชาธิปไตย" และสิ่งที่สำคัญคือ 4 พฤศจิกายน 2516 ทุกคนรู้ว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเวลา... มันคือจุดอ่อนอย่างที่สุดเลยนะคะ "รู้แต่ไม่ใช้ จะรู้ไปทำไม?"
ถ้าได้อ่านประวัติศาสตร์ในปีนั้น ทุกอย่างจะกระจ่างค่ะ ว่าอันที่จริงแล้วคุณจิระนันท์เขียนอะไรลงไปในบทกวีบทนี้ :)
2.สังเคราะห์ : นำเนื้อหาในบทกวีมาเชื่อมโยงกับความจริงในประวัติศาสตร์

ความหมายของบทกวีบทนี้ หมายถึงอะไร ?
คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้สรุปยุคสมัยของเธออย่างกระชับและงดงาม
"ดอกไม้" ของเธอคือคนหนุ่มสาว คือพลังศรัทธา บริสุทธิ์ กล้าหาญ
เป็นจิตสำนึกที่ถูกปลุกขึ้นมาในยามสังคมมืดมนผู้คนหมักหมม

"สตรีมีดวงตา
เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
มองโลกอย่างกว้างไกล
มิใช่คอยชม้อยชวน"

 
นี่คือจิตสำนึกของสตรี แห่งยุค "เปลี่ยนมือที่อ่อนนิ่มเป็นลิ่มเหล็ก" 
คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา มีกาพย์กลอนบทนี้เป็นมงกุฏกวีของเธอ
มงกุฎกวีของคุณจิระนันท์มิได้สวมด้วยมือใคร
ยุคสมัยเท่านั้นที่สร้างเธอมาพร้อมกับมงกุฎกวี
เพราะบทกวีคือผลึกของความรู้สึกนึกคิด 

ยุคสมัยของคุณจิระนันท์ได้เจียระไนเธอมาเช่นนี้
ช่วงวัยสิบกว่าขวบของคนเป็นช่วงพื้นฐานที่ซื้ออนาคตของเด็กได้
ช่วงวัยสิบกว่าขวบของคุณจิระนันท์ตกราว พ.ศ.2510
ตอนนั้นเด็กหญิงจิระนันท์ยังเป็นเด็กช่างอ่าน ช่างเขียน และช่างเรียนรู้อยู่เมืองตรัง

เด็กต่างจังหวัดคือเด็กภูธร ไม่ใช่นครบาล ได้เปรียบเด็กเมืองหลวงตรงความใฝ่ฝันและทะเยอทะยาน กอปรกับสิ่งแวดล้อม(บ้านของคุณจิระนันท์)เป็นร้านขายหนังสือและคุณแม่เป็นผู้รักในวิชาหนังสือและการศึกษา
สองสิ่งนี้คือพื้นฐานสำคัญที่สร้างความใฝ่ฝันและความใส่ใจในกาพย์กลอนของเด็กหญิงจิระนันท์มาเป็นจิระนันท์ พิตรปรีชาในปัจจุบัน
(หากเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยา จะทราบว่าครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่จะกำหนดพฤติกรรมของคนๆหนึ่งจริงๆค่ะ ลองอ่านได้ใน : www.oknation.net/blog/aj-pim)

ยุคสมัยของคุณจิระนันท์นั้น เป็นช่วงระหว่างยุค "เฟื่องการรัก" กับ "ชักธงรบ"
กาพย์กลอนในยุคเฟื่องการรักเล่นฉันทลักษณ์กันแม่นเปรี๊ยะ และด้านเนื้อหานักกลอนได้ผ่านการจับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองในเรื่องความรักอย่างลึกซึ้ง หวานหวิว เช่น
 "ดอกรักบานในใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน"
(ยุคเฟื่องการรัก คือ ยุคที่บทกวีเกี่ยวกับความรักรุ่งเรือง โดนใจคน คิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนมีความต้องการทางเพศ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายที่ผลิตออกมาตามวัย แต่ค่านิยมคนไทยสมัยนั้นปิดกั้นในเรื่องหนุ่มสาว จึงมีนักเขียนเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่กล้าส่งผ่านความรู้สึกเหล่านี้ผ่านงานเขียน คนส่วนใหญ่จึงชอบอ่านเพราะการอ่านสิ่งเหล่านี้จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกที่ต้องเก็บอยู่ภายในจิตใจ)

ถัดจากนี้เมื่อถึงยุค "ชักธงรบ"
หนุ่มสาวยุคนั้นมีส่วนผลักดันประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนไปเท่ากับที่กระแสธารประวัติศาสตร์ก็ผลักดันให้หนุ่มสาวเติบโตเร็วด้วย
คุณจิระนันท์เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการนิสิตนักศึกษาและหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลาคม
เธอทำให้ภาพของนิสิตหญิงจำพวก "ดาวจุฬา-ธิดาโดม" เปลื่ยนจาก "ศรีจุฬาน่ารักเอย" และ "โสภาหนักหนาน่าโลม" มาเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของคนหนุ่มสาวที่เคียงบ่าเคียงไหล่เข้าคัดต้านความอยุติธรรมในแผ่นดินอย่างทรนงองอาจ กลายเป็นวีระกรรมและตำนานที่ตรึงตราตรึงใจ
 ดอกแพงพวย

คุณจิระนันท์เริ่มเติบโตขึ้นภายใต้อิทธิพลนี้
เพราะฉะนั้น ความหมายของบทกวี"ประชาธิปไตย"บทนี้ อาจสื่อออกมาเพื่อทวงถามความยุติธรรมจากค่านิยมของสังคม และยกย่องชื่นชมความคิดความสามารถของผู้หญิงเก่ง โดยบรรยายความรู้สึกนึกคิดของเธอผ่านอารมณ์ เมื่อนึกถึงภาพดอกไม้ที่เธอคิดว่าสวยงามที่สุดและมีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงดอกไม้ที่่ตั้งไว้เพื่อกำหนดราคาค่างวดให้ซื้อขายกันตามท้องตลาด แต่เป็นดอกไม้ที่ยืนหยัดอยู่บนผืนดิน รู้ร้อนรู้หนาว ทนแดดทนฝน โดยไม่จำเป็นต้องประดับไว้บนแจกันเกียรติยศของใครๆ 

คุณจิระนันท์ ได้รับรางวัลซีไรต์(S.E.A. Write) ในปี พ.ศ.2532 เนื่องจากงานเขียนของเธอเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางและมีหลากหลายรูปแบบที่เคยได้รับรางวัล ซึ่งล้วนแต่เป็นงานเขียนแนวสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงสังคม

งานเขียนเหล่านี้สามารถจัดเป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์รูปแบบหนึ่งให้คนรุ่นหลังสามารถศึกษาค้นคว้าได้ เราเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงการท่องจำ แต่เพื่อสัมผัสถึงความเป็นมาและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ต่อทุกสิ่งรอบตัว หากเหตุการณ์หรือสิ่งใดๆที่บรรพบุรุษบันทึกไว้ว่าทำให้เจ็บปวด ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วหาแนวทางป้องกันอย่าให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย...

อ้างอิง

1 ความคิดเห็น:

  1. สตรีมีสองมือ
    มั่นยึดถือในแก่นสาร
    เกลียวเอ็นจักเป็นงาน
    มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ

    สตรีมีสองตีน
    ไว้ป่ายปืนความใฝ่ฝัน
    ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน
    มิหมายมั่นกินแรงใคร

    สตรีมีดวงตา
    เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
    มองโลกอย่างกว้างไกล
    มิใช่คอยชม้อยชวน

    ช่วยตีความบทกลอนนี้ให้หน่อยนะคะ

    ตอบลบ