วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Who Moved My Cheese? ใครเอาเนยแข็งของฉันไป




นิทาน Who Moved My Cheese? (ใครเอาเนยแข็งของฉันไป)
                นิทาน Who Moved My Cheese? (ใครเอาเนยแข็งของฉันไป) แต่งโดย สเปนเซอร์  จอห์นสัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเขาวงกต ซึ่งเป็นที่อยู่ของหนูสองตัวและคนตัวเล็กสองคนที่ต่างใช้เวลาค้นหาเนยแข็งของตนเอง

ตัวละครในเรื่องประกอบด้วย
1.       Sniff  คือ หนูที่มักจะหาเนยแข็งโดยการดมกลิ่นไปเรื่อยๆ ซึ่งมันจะทราบการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2.       Scurry คือ หนูที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว หนูนอกจากจะมีความสามารถในการดมกลิ่นสูงแล้ว ยังมีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วนั้นทำให้หนูหลงทางหรือชนกำแพงบ่อยครั้ง
3.       Hem คือ คนตัวเล็กที่มีนิสัยชอบยึดติดอยู่กับความเชื่อเก่าๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทัศนคติตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
4.       Haw คือ คนตัวเล็กที่มีนิสัยชอบลังเล ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทัศนคติในตอนแรก แต่สุดท้ายก็เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไร ก็จะสามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น และสามารถมีความสุขได้ในขณะเดินทางไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงแม้ยังไม่พบเนย แข็งของตน

ในเนื้อเรื่อง เนยแข็งสำหรับหนูสองตัวหมายถึง เนยแข็งที่เป็นอาหาร เมื่ออาหารของมันหมด มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปหาอาหารในที่แห่งใหม่ พวกมันใช้วิธีการลองผิดลองถูกในการค้นหาเนยแข็ง ซึ่งต่างจากเนยแข็งสำหรับคนตัวเล็กสองคน ไม่เพียงหมายถึงเนยแข็งที่เป็นอาหาร แต่ยังสื่อถึงสิ่งที่ตอบสนองความต้องการอื่นๆอีกมากมาย เช่น ความมั่นคงในชีวิต เงิน บ้านหลังใหญ่ อิสรภาพ สุขภาพที่ดี เป็นต้น ทั้งสองคนมีความเชื่อมากมายและใช้วิธีการวิเคราะห์อย่างซับซ้อนในการค้นหาเนยแข็ง
คำว่า เนยแข็ง ในเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนสิ่งที่สิ่งมีชีวิตอยากได้ อยากมี อยากเป็น และต่างแสวงหามันเพราะเชื่อว่ามันจะทำให้เรามีความสุข เมื่อเราได้มันมาเราก็มักจะยึดติดกับมัน เมื่อเราสูญเสียมันไปก็มักจะเจ็บปวดและเสียใจ สิ่งเหล่านี้ต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาและอาจนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ต้องการก็ได้
คำว่า เขาวงกต ในเรื่องนี้เปรียบเสมือนสถานที่หรืออาณาบริเวณที่เราใช้ชีวิตอยู่ อาจเป็นที่อยู่อาศัย องค์กรที่เราทำงานอยู่ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอีกด้วย
มนุษย์แยกประเภทของตนเองออกจากสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากมีโครงสร้างของสมองแตกต่างกัน มนุษย์มีสมองที่ซับซ้อน มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เข้าใจ และจดจำสิ่งต่างๆที่ตนประสบ แล้วอุปมาสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นความดีความชั่ว สีขาวสีดำ ความรวยความจนด้วยเหตุผลตามทัศนคติของตน และอุปมาการได้ครอบครองสิ่งที่ตนต้องการว่า ความสุข แต่สัตว์ชนิดอื่นมีสมองที่ไม่ซับซ้อน จึงเรียนรู้ได้น้อยกว่ามนุษย์ ส่วนใหญ่มีความสามารถเพียงการลองผิดลองถูก
การมีโครงสร้างของสมองที่แตกต่างกันจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความต้องการของมนุษย์มีมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นหลายเท่า มนุษย์ต้องการสิ่งตอบสนองความต้องการมากมายอย่างนับไม่ถ้วน ในขณะที่สัตว์ เช่น หนู มีความต้องการเพียงสิ่งที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานที่ทำให้พวกมันสามารถดำเนินชีวิตอยู่รอดและสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่ และการสืบพันธุ์
เนื่อง จากช่วงชีวิตหนึ่งของทุกสิ่งมีชีวิตต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ต้องการโดยที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ และทุกสิ่งมีชีวิตล้วนมีสัญชาตญาณความกลัว จึงทำให้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตใดๆย่อมกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าตนเองกลัวการเปลี่ยนแปลง และความกลัวการเปลี่ยนแปลงนี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม สัญชาตญาณความกลัวไม่เพียงแต่ส่งผลในทางลบ เพราะ หากเราไม่กลัว เราก็ไม่คิดที่จะทำอะไรเลย นั่นคือ ถ้าเราไม่กลัวอดอยาก เราก็จะไม่ทำมาหากิน, ถ้าเราไม่กลัวเจ็บปวด เราก็จะไม่หลีกหนีอันตราย ดังนั้น ความกลัวจึงเป็นสัญชาตญาณแห่งความอยู่รอด ของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์
ความกลัวคือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์โดยไม่รู้ตัว วัยเด็กมนุษย์อาจรู้จักความกลัวเพียงกลัวหิว กลัวเจ็บ กลัวร้อน กลัวหนาว แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปมนุษย์ได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงมากมายตามระยะเวลาที่ดำเนินชีวิตอยู่ ตามบทบาทหน้าที่ และเหตุการณ์ต่างๆที่ได้พบเจอ ทำให้มนุษย์รู้จักความกลัวมากขึ้น เช่น กลัวความพ่ายแพ้ กลัวความจน กลัวความล้มเหลว เป็นต้น มนุษย์จึงเกิดความต้องการสิ่งที่จะมาลดความกลัวเหล่านั้น เพื่อทำให้ตนเองมีความสุข นั่นก็คือ เนยแข็ง ในนิทานนั่นเอง มนุษย์อุปมาการได้มาซึ่งเนยแข็งของตนว่า การประสบความสำเร็จ
ยิ่งมนุษย์ได้เนยแข็งมามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องการมันมากขึ้นเท่านั้น และเนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีดวงตาไว้มองภายนอก ไม่ได้มีไว้มองภายใน มนุษย์จึงพบแต่เนยแข็งที่อยู่รอบตัว และเอาแต่พยายามมองหาคุณค่าของตนเองจากสายตาของผู้อื่น จนหลงลืมไปว่ายังมีเนยแข็งที่ไม่ต้องซื้อหามาจากไหนและสัมผัสได้ใกล้ชิดที่สุดอยู่ภายในจิตใจของเราเอง
        เพียงแค่เราคิดว่าเราสุข เราก็จะสุข นั่นคือ การประสบความสำเร็จที่แท้จริงคือการประสบความสำเร็จทางจิตใจ
         ดังนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้เขียนคือต้องการสื่อถึงการจัดการกับความกลัวของมนุษย์

         การประสบความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสมอง แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการคิด หากมนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะความกลัวได้และพยายามแสวงหาเนยแข็งตลอดเวลา มนุษย์จะทุกข์มากกว่าหนูเสียอีก
         ผู้เขียนจึงสื่อถึงความจริงของชีวิตและวิธีการจัดการกับความกลัวของมนุษย์ ผ่านทางลักษณะนิสัยของตัวละคร 4 ตัว และสิ่งที่ Haw ได้จารึกไว้บนกำแพง โดยตีความได้ดังนี้
                ไม่มีมนุษย์ผู้ใดที่จะสามารถหนีการเปลี่ยนแปลงได้ ทุกขณะที่โลกกำลังหมุนและชีวิตยังดำเนินต่อไปนั้นเวลาก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงทำให้มนุษย์กลัวและความกลัวจะทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป  ไม่มีอะไรยั่งยืนเว้นแต่การตายจาก
          การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์คือต้องละทิ้งความกลัวของตนให้ได้ ซึ่งต้องจัดการด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถนำความกลัวออกไปจากจิตใจของใครได้ เมื่อไรที่ความกลัวก่อให้เกิดความทุกข์จะต้องตั้งสติให้ได้เร็วที่สุดแล้ว พิจารณาตนเองก่อน เพื่อหาสาเหตุและต้องรู้จะปล่อยวาง เอาชนะความกลัวด้วยความเชื่อใหม่ๆ เมื่อเปลี่ยนแปลงความคิดก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆอยู่เสมอ อย่าประมาทกับความสุข เพราะเมื่อคนเรามีความสุขก็มักจะลืมไปเสียสนิทว่าความทุกข์นั้นเป็นเช่นไร
          มนุษย์ผู้ที่จะถูกจัดเป็นสัตว์ประเสริฐและเรียกหนูว่าเป็นสัตว์เดียรัจฉานได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องรู้จักใช้สมองเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต และใช้เป็นบทเรียนในการวางแผนอนาคต เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันคาดคิด เพราะหนูไม่มีสมองที่มีโครงสร้างซับซ้อน หากมันไม่มีจมูกที่ไวต่อกลิ่นและขาที่ว่องไวนั้น มันคงไม่มีโอกาสรอดพ้นความตายจากการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น